วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ผอ.เทคโนโลยีอวกาศฯ แนะใช้ "รีโมทเซนซิง" คู่ "จีไอเอส" เชื่อไทยไปไกลแน่

ผอ.เทคโนโลยีอวกาศฯ แนะใช้ รีโมทเซนซิง คู่ จีไอเอส เชื่อไทยไปไกลแน่



ผอ.สนง.เทคโนโลยี อวกาศฯ ชี้เทคโนโลยีรีโมทเซนซิงของไทยมีทิศทางที่ดีเพราะรัฐหนุนอย่างเต็มที่ และหากนำมาใช้ควบคู่กับ "จีไอเอส" ที่มีอยู่เดิม จะช่วยแก้ปัญหาในด้านต่างๆ ได้มากมาย และอีกไม่กี่เดือนไทยกำลังจะก้าวเข้าเป็นสมาชิกองค์กรด้านอวกาศระดับโลก
     
       ดร.สุวิทย์ วิบูลย์เศรษฐ์ ผอ.สำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(สทอภ.) แสดงปาฐกถาหัวข้อ “สถานภาพทิศทางอนาคตเทคโนโลยีรีโมทเซนซิง (Remote Sensing) และภูมิสารสนเทศของไทย” ในงาน EIT Dinner Talk เมื่อเร็วๆ นี้ ณ สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท) โดยมีการถ่ายทอดภาพและเสียงวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ (Video Conference) จากห้องประชุมอาคาร ว.ส.ท. กรุงเทพฯ ไปยังเชียงใหม่ ขอนแก่นและสงขลา
     
       ในการปาฐกถา ดร.สุวิทย์ได้กล่าวว่า ในปัจจุบันเราได้ใช้ข้อมูลด้านภูมิสารสนเทศมากขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยีรีโมท เซนซิงในการผลิตข้อมูลภูมิสารสนเทศ หรือจีไอเอส (GIS-Geographic Information Systems) ซึ่งเป็นข้อมูลด้านภูมิศาสตร์ที่ใช้เพื่อการบริหาร การออกแบบและการตัดสินใจ ประกอบด้วยข้อมูลเชิงพื้นที่และข้อมูลเชิงบรรยาย
     
       ทั้งนี้เทคโนโลยีรีโมทเซนซิง คือเทคโนโลยีที่ใช้รับรู้ข้อมูลระยะไกล แล้วนำไปบริหารเพื่อการออกแบบและตัดสินใจในด้านต่างๆ โดยอาศัยหลักการสะท้อนแสงหรือการแผ่รังสีของวัตถุแต่ละชนิดที่เฉพาะตัวและ แตกต่างกัน รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่แตกต่างด้วย เป็นเทคโนโลยีที่ในปัจจุบันใช้กับดาวเทียมเพื่อการศึกษาสภาพภูมิศาสตร์
     
       “ในอดีตเรายังไม่มีเทคโนโลยีรีโมท เซนซิง มีเพียงข้อมูลเชิงบรรยาย เมื่อน้ำท่วมจึงบอกได้แค่ว่าน้ำท่วมที่ไหน อำเภออะไร จังหวัดอะไร กี่หมื่นไร่ แต่ขอบเขตอยู่ไหน บริเวณภูเขาหรือแม่น้ำไม่ทราบ การมีข้อมูลเชิงพื้นที่ช่วยให้การตัดสินใจเข้าช่วยเหลือไปถึงบริเวณที่ต้อง การจริงๆ การทำงานพร้อมกันทั้ง 2 ข้อมูลจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการจัดการ” ดร.สุวิทย์กล่าว
     
       นอกจากนี้ ระหว่างการปาฐกถา ดร.สุวิทย์ยังได้นำภาพถ่ายดาวเทียมมาแสดง ซึ่งเป็นลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น การทำแผนที่เพื่อการวางผังเมือง การศึกษาความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ หรือแม้แต่การไปใช้ในการเกษตรเพื่อบ่งชี้ความสมบูรณ์ของพื้นที่ว่าเหมาะแก่ การเพาะปลูกหรือไม่ โดยในปัจจุบันมีหน่วยงานของรัฐนำข้อมูลภูมิ สารสนเทศไปใช้ประโยชน์กว่า 100 หน่วยงาน ใช้งบประมาณไปกว่า 300 ล้านบาทต่อปี แต่หากมีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานโดยใช้ข้อมูลร่วมกันมากขึ้นกว่านี้ จะสามารถลดค่าใช้จ่ายลงไปได้มาก
       

       “ที่ผ่านมามีความซ้ำซ้อนในการทำ งานอยู่มาก มีหน่วยงานนี้อยู่แล้ว ทำงานนี้อยู่แล้ว พอมีหน่วยงานใหม่ก็ทำงานในลักษณะเดียวกันอีก ขาดความร่วมมือประสานกัน มาตรฐานก็ไม่ค่อยมีต่างคนต่างมีมาตรฐาน มันก็ทำให้เข้ากันไม่ได้ และข้อมูลพื้นฐานที่สมบูรณ์และถูกต้องก็ไม่ค่อยมี นอกจากนี้การเข้าถึงข้อมูลยากเพราะทุกคนถือว่าข้อมูลเป็นของฉัน ฉันได้รับงบประมาณมา ฉันไปสำรวจข้อมูลมาเพราะฉะนั้นข้อมูลเป็นของฉัน” ดร.สุวิทย์ระบุถึงปัญหาที่พบ
     
       พร้อมกันนี้ ผอ.สทอภ. ยังได้แนะแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวว่า ต้องบูรณาการขั้นตอนการทำงานและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลเชิงพื้นที่แห่งชาติ (NSDI: National Spatial Data Infrastructure) เพื่อให้มีข้อมูลที่เป็นมาตรฐานและทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ทางรัฐบาลได้เข้ามาช่วยเหลือโดยให้เป็นนโยบายระดับชาติและผลักดันให้แต่ละ หน่วยงานมีความร่วมมือกัน สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลเชิงพื้นที่แห่งชาตินั้น สหรัฐอเมริกาเพิ่งทำสำเร็จไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ประเทศที่ร่ำรวยหลายประเทศก็กำลังทำอยู่ เราจึงไม่จำเป็นต้องรีบร้อนแต่ก็ควรมีทิศทางที่ถูกต้อง
     
       ส่วนอนาคตเทคโนโลยีอวกาศของไทยนั้น เรากำลังจะเป็นสมาชิกองค์กรด้านอวกาศระดับโลก ใน "คณะกรรมการใช้อวกาศส่วนนอกในทางสันติ" (Committee on the Peaceful Uses of Outer Space) ซึ่ง ผอ.สทอภ. ชี้ว่า นับเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยไทยได้รับอนุมัติให้เป็นสมาชิกแล้ว และจะเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์เมื่อได้การรับรองอย่างเป็นทางการจากสมัชชาสห ประชาชาติในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมที่จะถึงนี้ และต่อไปจะผลักดันให้ประชาชนทุกระดับรู้จักเทคโนโลยีนี้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ว่าฯ ซีอีโอที่ต้องรู้จักและสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ในการบริหารราชการ ระดับท้องถิ่นได้
     
       “ท่านนายกบอกว่าต่อไปนี้ผู้ว่าราชการเมื่อรับตำแหน่งเป็นผู้จังหวัดนี้แล้ว แรกสุดเลยต้องนำภาพถ่ายดาวเทียมของจังหวัดนี้มาดู เพื่อรู้ว่าจังหวัดเราที่ไหนเป็นป่าไม้ ที่ไหนเป็นเกษตร ที่ไหนสูงๆ ต่ำ ๆ ถ้าไม่รู้เราจะเป็นผู้ว่าได้ไง” ดร.สุวิทย์อ้างถึงคำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในการประชุม ครม.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมทั้งกล่าวทิ้งท้ายว่า ต้องการให้มีการใช้เทคโนโลยีนี้ในทางวิศวกรรมมากขึ้นเพราะที่ผ่านมามีการนำไปใช้ในด้านวิศวกรรมค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่ใช้ไปกับการเกษตร
       

       สำหรับงาน EIT Dinner Talk นี้จัดขึ้นโดยสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.) เพื่อเป็นสื่อกลางในการนัดพบปะสังสรรค์ระหว่างวิศวกรไทยทั่วประเทศ ทุกวันพฤหัสที่ 2 และ 4 ของเดือน ผู้สนใจทั่วไปก็สามารถเข้าร่วมประชุมสัมมนาได้ ซึ่ง นายต่อตระกูล ยมนาค นายกสมาคม ว.ส.ท. เปิดเผยว่า การ ประชุมครั้งนี้มีความพิเศษตรงที่เป็นการประชุมแบบเทเลคอนเฟอร์เรนซ์เป็น ครั้งแรกของสมาคม ได้รับการสนับสนุนการถ่ายทอด Video Conference จากบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
แหล่งที่มาของบทความ

http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9470000051501


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น