ปฏิสัมพันธ์ของพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในชั้นบรรยากาศ



             ดวงอาทิตย์ เป็นแหล่งกำเนิดพลังงานได้ส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าผ่านบรรยากาศสู่พื้นผิวโลกและสะท้อนผ่านบรรยากาศกลับสู่เครื่องรับสัญญาณเป็นเหตุให้ลักษณะของบรรยากาศโลกเป็นปัจจัยมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงไปทั้งขนาดและทิศทาง ทั้งนี้อนุภาคที่อยู่ในชั้นบรรยากาศซึ่งประกอบไปด้วย ฝุ่นละออง ไอน้ำ และก๊าซต่าง ๆ จะทำปฏิสัมพันธ์กับพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า 3 กระบวนการ คือ การดูดกลืน การหักเห และการกระจัดกระจาย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

การดูดกลืน (Absorption)

              การดูดกลืนทำให้เกิดการสูญเสียพลังงาน ก๊าซบางชนิดและไอน้ำมีความสามารถดูดกลืนพลังงานที่ความยาวช่วงคลื่นบางคลื่น

1) ก๊าซออกซิเจนและโอโซน ดูดกลืนแสงที่มีความยาวคลื่นตั้งแต่อัลตราไวโอเลตลงมาถูกดูดกลืนจนหมดในบรรยากาศชั้นสูง ระหว่าง 23 – 30 กิโลเมตร ส่วนช่วงคลื่น 0.1 – 0.3 ไมโครเมตร ถูกดูดกลืนโดยก๊าซโอโซนในชั้นโอโซนโพสเฟียร์ บางส่วนสะท้อนกลับสู่อวกาศ ทำให้ไม่มีรังสีเหล่านี้เล็ดลอดมายังผิวโลกเลย

2) ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีการดูดกลืนมากในช่วงคลื่นประมาณ 15 ไมโครเมตร ในชั้นสตราโตสเฟียร์ชั้นล่าง

3) ไอน้ำ ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในชั้นโทรโปสเฟียร์ ซึ่งอยู่ส่วนล่างของชั้นบรรยากาศ ระดับต่ำกว่า 10 กิโลเมตร สามารถดูดกลืนพลังงานจากดวงอาทิตย์และโลกได้ดีที่สุดเกือบทุกช่วงคลื่น ยกเว้นช่วงคลื่นต่ำกว่า 0.7 ไมโครเมตร ลงไป และดูดกลืนสูงสุดในช่วงคลื่นประมาณ 6 ไมโครเมตร

การดูดกลืนพลังงานเกิดขึ้นทั้งในช่วงคลื่นสั้นและช่วงคลื่นยาว แต่ก็มีบางช่วงคลื่นที่สามารถทะลุทะลวงหรือผ่านชั้นบรรยากาศลงมาที่ผิวโลกได้ เรียกว่า หน้าต่างบรรยากาศ (Atmospheric Window) ซึ่งปรากฏในช่วงคลื่นแสงสว่าง คือ 0.3 – 0.7 ไมโครเมตร และช่วงคลื่นอินฟราเรดสะท้อนและอินฟราเรดความร้อนยกเว้น 9.6 ไมโครเมตร ซึ่งดูดกลืนโดยก๊าซโอโซน หน้าต่างบรรยากาศเหล่านี้มีประโยชน์ต่อการพิจารณาเลือกระบุอุปกรณ์บันทึกภาพให้สัมพันธ์กับการตอบสนองของช่วงคลื่นต่าง ๆ






เราไม่สามารถนำทุกคลื่นมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด แต่ต้องเลือกใช้เฉพาะที่สามารถผ่านหน้าต่างบรรยากาศได้เท่านั้น ซึ่งมีประมาณร้อยละ 50 ของพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าทั้งหมด และเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการออกแบบการรับสัญญาณช่วงคลื่นต่าง ๆ ของดาวเทียม หรือในการสร้างรีโมทเซนซิงประเภทต่าง ๆ ได้แก่

คลื่นตามองเห็น : Optical Wavelengths .30-15 mm
1. คลื่นสะท้อน : Reflective 0.38-3.0 mm
คลื่นตามองเห็น : Visible Wavelengths 0.38-0.72 mm
คลื่นสะท้อน – คลื่นอินฟราเรด : Reflective – Infrared Wavelengths 0.72-3.0 mm

2. คลื่นอินฟาเรดความร้อน : Thermal หรือ Emissive Wavelengths 7.0-15.0 mm
คลื่นอินฟราเรดไกล : Far Infrared

3. คลื่นไมโครเวฟ : Microwave
ระบบเรดาร์และพาสซีฟไมโครเวฟ (radar and passive microwave)





การหักเห

               การหักเหเป็นปรากฏการณ์ที่คลื่นเปลี่ยนเส้นทางเดิน ทั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อคลื่นเดินทางผ่านชั้นบรรยากาศที่มีความหนาแน่นแตกต่างกัน ปริมาณการหักเหขึ้นกับค่าดัชนีการหักเห ซึ่งเป็นอัตราส่วนระหว่างความเร็วของแสงในสูญญากาศกับความเร็วของแสงในชั้นบรรยากาศนั้น ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนของตำแหน่งที่บันทึกลงบนข้อมูลภาพ อย่างไรก็ตามสามารถปรับแก้ได้โดยกระบวนการปรับแก้ในภายหลัง รูปแบบของการหักเหและกระจัดกระจายขึ้นอยู่กับความแปรปรวนของสภาวะอากาศและองค์ประกอบของอนุภาคในบรรยากาศในขณะนั้น ๆ ด้วย


การกระจัดกระจาย (Scattering)

                การกระจัดกระจายคือการที่คลื่นเคลื่อนที่ไปกระทบอนุภาคในบรรยากาศ แล้วทำให้เกิดการกระจัดกระจายของคลื่นในบางช่วงคลื่น ส่งผลต่อความคมชัดของสัญญาณภาพ ซึ่งสามารถแบ่งลักษณะการกระจัดกระจายได้เป็น 3 รูปแบบ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความยาวคลื่นและขนาดอนุภาคที่ไปกระทบ ดังนี้

                การกระจัดกระจายแบบเรย์เล (Rayleigh Scatter) – เกิดขึ้นเมื่อความยาวช่วงคลื่นมีขนาดมากกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของอนุภาคที่คลื่นไปกระทบ (เช่น ก๊าซ) ซึ่งจะเกิดในช่วงคลื่นสั้นมากกว่าช่วงคลื่นยาว ยิ่งช่วงคลื่นสั้นจะยิ่งมีการกระจัดกระจายมาก มีผลทำให้ความคมชัดของภาพน้อยลง ส่วนใหญ่จะปรากฏเป็นสีเทาปนฟ้า (คลื่นสั้น)
                การกระจัดกระจายแบบมี (Mie Scatter) – เกิดเมื่อความยาวช่วงคลื่นมีขนาดเท่ากับเส้นผ่าศูนย์กลางของอนุภาคในบรรยากาศ มีไอน้ำและฝุ่นละอองเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการกระจัดกระจายแบบนี้ มักจะเกิดในช่วงคลื่นที่มีขนาดยาวกว่าแบบเรย์เล เช่น ในสภาวะที่มีเมฆปกคลุม มีผลทำให้เกิดเป็นลักษณะหมอกควัน สีแดง
                การกระจัดกระจายแบบผสม (Nonselective Scatter) – เกิดเมื่อเส้นผ่าศูนย์กลางของอนุภาคมีขนาดใหญ่กว่าความยาวช่วงคลื่นที่ตกกระทบ เช่น หยดน้ำ ฝน ฝุ่นละออง ไอน้ำ และหมอก มักจะเกิดการกระจายในช่วงคลื่น Visible และ Reflected Infrared ในกรณีที่การกระจัดกระจายของกลุ่มคลื่นตามองเห็น (Visible) สะท้อนสูงเท่ากันทุกคลื่น จะเห็นเมฆเป็นสีขาว การกระจัดกระจายแบบนี้มักเห็นอยู่ในรูปของเมฆ หมอก ควัน ซึ่งปิดทับข้อมูลภาพในบางส่วน
การสะท้อนคลื่นรังสีของพืชพรรณ ดิน และน้ำ
พืช ดินและน้ำ เป็นวัตถุปกคลุมผิวโลกเป็นส่วนใหญ่ การสะท้อนพลังงาน
ที่ความยาวช่วงคลื่นต่างกันของพืช ดินและน้ำ จะทำให้สามารถแยกประเภทของวัตถุชนิดต่างๆ ได้



แหล่งที่มาของข้อมูล/ภาพ


http://www.scitu.net/gcom/?p=807

http://geo.buu.ac.th/GOI/cgi_bin/course/index.php?action=document&Course=876211


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น