วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ครบรอบ 6 ปี "ดาวเทียมที่ทำให้ประเทศไทยรุ่งเรือง"



               ดาวเทียมธีออส (THEOS: Thailand Earth Observation Satellite) เป็นดาวเทียมสำรวจโลกระดับปฏิบัติการ ดวงแรกของประเทศไทย ที่เกิดจากความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศส อยู่ภายใต้การดำเนินงานของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) หรือ GISTDA กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขึ้นสู่วงโคจรจากฐานปล่อยจรวด เมืองยัสนี ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551 และต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนาม ว่า ดาวเทียมไทยโชต (THAICHOTE) มีความหมายว่า “ดาวเทียมที่ทำให้ประเทศไทยรุ่งเรือง”ดาวเทียมไทยโชต โคจรสูงจากพื้นโลกประมาณ 820 กม. โดยจะกลับมาที่จุดเดิมทุกๆ 26 วัน และโคจรรอบโลกทั้งสิ้น 369 วงโคจร ซึ่งระยะทางระหว่างวงโคจรแต่ละวงเท่ากับ 105 กม. สามารถบันทึกภาพได้ครอบคลุมทั่วโลกภายใน 35 วัน เมื่อใช้ระบบถ่ายภาพสี และใช้เวลา 130 วัน ถ่ายได้ครอบคลุมทั่วโลกเมื่อใช้ระบบถ่ายภาพขาว-ดำ นอกจากนี้ยังสามารถเอียงตัวเพื่อถ่ายภาพได้ ทำให้เพิ่มศักยภาพในการถ่ายภาพได้มากขึ้น ภาพถ่ายจากดาวเทียมไทยโชตถูกนำไปใช้งานในภารกิจต่างๆ อาทิ การเฝ้าระวังและติดตามภัยพิบัติ การเกษตร ป่าไม้ การใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นต้น

                ดาวเทียมไทยโชต ปฏิบัติภารกิจอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทำหน้าที่เสมือนดวงตาของชาติในการเฝ้ามองโลกอยู่ทุกวัน และโคจรอย่างโดดเดี่ยวในอวกาศที่เวิ้งว้างมาเป็นระยะเวลานาน โดยในวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ดาวเทียมไทยโชตจะครบรอบ 6 ปีในการปฏิบัติภารกิจในห้วงอวกาศ และ GISTDA ยังคงทำงานหนักต่อไปพร้อมกับดาวเทียมไทยโชต ในการนำคุณค่าจากอวกาศเพื่อพัฒนาชาติและสังคมสืบไป



แหล่งที่มาของบทความ

http://www.gistda.or.th/main/th/node/358

1 ความคิดเห็น: